Reviews & News

เด็กติดเกม หรือ นักกีฬา E-sport ทางออกอยู่ตรงไหนกับประเทศไทย

เมื่อเกมถูกมองว่าเป็นสิ่งมอมเมาในสายตาผู้ใหญ่ของบ้านเรา แต่หลังจากเกิดเกมการแข่งขันของทีม Monori Bacon ตัวแทนของประเทศไทยที่เล่นเกม ROV คว้าตำแหน่งแชมป์ในรายการ ROV Throne of Glory Tournament ที่ประเทศเวียดนามโดยมีเงินรางวัลในครั้งนี้มากกว่า 1 ล้านบาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการเกมของประเทศไทยเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ไม่นาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประกาศให้การรับรอง E-sport ว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง และ จัดตั้งเป็นสมาคมกีฬา ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือ ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

การศึกษาถึงรูปแบบของเกม E-sport เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกมที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะสามารถเป็นหนึ่งในกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในอนาคต ซึ่งกรณีนี้อาจจะหลุดพ้นจากการต่อต้านของสังคมบางส่วน ซึ่ง ดร.ถิรพล วงศ์สอาดสกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม หลักสูตร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พยายามที่จะผลักดันให้เกม E-sport กลายเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ต้องเรียนและสอนอย่างจริงจัง

รองรับตลาดเกมที่กำลังขยายตัว

เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมกำลังขยายตัวเป็นอย่างมาก มีเงินมาเกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงการนี้ ดร.ถิรพล กล่าวถึง หลักสูตรที่ควรจะถูกบรรจุเข้าไปในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม เป็นสาขาวิชาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ เพื่อต้องการพัฒนาหลักสูตรพิเศษกับบริษัทเอกชน โดยกำหนดหลักสูตรอยู่ที่ 135 หน่วยกิต

โดยจะมีวิชาที่จัดขึ้นเพื่อตอบรับเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นอกเหนือจากการเล่นเกมแล้ว จะมีการเรียนการสอนในเรื่องของอินเทอร์แอคทีฟ มีเดีย เช่น VR (Visual Reality) AR (Augmented Reality) หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คนทั่วโลกตั้งความหวังในเรื่องการพัฒนาระบบนี้โดยเฉพาะ เพราะว่าในต่างประเทศมีการส่งเสริมในด้านนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ สหรัฐ แม้ว่าในประเทศไทยจะยังมีข้อถกเถียงกันในเรื่องข้อกฎหมายของประเทศอยู่มากมาย

การแบ่งแยกระหว่างเด็กติดเกมกับนักกีฬา

สำหรับ E-sport มีข้อถกเถียงในประเทศไทยว่าเป็นกีฬาหรือเกม โดยในความเป็นจริงนั้น การแยกออกระหว่างเด็กติดเกม และ กีฬา เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ได้ดี สิ่งที่จะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

ในอดีตการเล่นสนุกเกอร์ถูกมองว่าเป็นการพนัน เป็นสิ่งมอมเมา และ ไม่ดี แต่หลังจากมีคนไทยหนึ่งคนได้รับชัยชนะในฐานะแชมป์ สนุกเกอร์ก็ถูกเปลี่ยนมุมมอง จากการพนันเป็นกีฬาไป ฮีโร่ คนที่ทำให้สนุกเกอร์กลายเป็นกีฬา ก็คือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ซึ่งถึงขั้นมีเด็กมากมายที่เข้าสู่เส้นทางกีฬาสนุกเกอร์ ในกรณีของเกม E-sport ณ ช่วงเวลานี้ก็อยู่ในกรณีที่คล้ายคลึงกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังมองว่าเกมเป็นสิ่งมอมเมาประชาชน แต่หากเล่นเกมอย่างเป็นระบบ มีวินัยในการเล่น ขยันฝึกซ้อม ก็จะกลายเป็นนักกีฬาทันที

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านเกมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างคนไปเพื่อเล่นเกม แต่ต้องการที่จะสร้างคนเพื่อไปเติมเต็มอุตสาหกรรมเกม และ ต้องการให้บุคลากรของประเทศไทยเป็นผู้สร้างมากกว่าเป็นผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว การสร้างสรรค์เกมขึ้นมาได้ย่อมได้รับประโยชน์มากกว่า

สิ่งที่จะทำให้ E-sport กลายเป็นกีฬาในสายตาคนไทยได้จะต้องมีหลักสูตร

เน้นพัฒนาทางด้านทักษะเป็นจำนวน 3 ด้าน

Technical เป็นทักษะในการเรียนการสอนถึงหลักการในการสร้างเกม กล่าวโดยง่าย คือ การเขียนโปรแกรม

Art เป็นทักษะที่ต้องพัฒนาเรื่องความสวยงาม ในด้านดีไซน์ เพราะ หากเกมมีความสวยงามจะมีความต้องการในการเล่นมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะศิลปกรรมศาสตร์

Business เป็นการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจ ที่ต้องรู้ถึงตลาดของเกมออนไลน์ ในการที่จะร่วมกับคณะบริหารถึงการทำธุรกิจการจัดการทางด้านตลาด

โอกาสที่จะประกอบอาชีพทางด้านเกม

ในการประกอบอาชีพที่สามารถสร้างอาชีพได้ มีขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก อันได้แก่

นักพัฒนาเกม (Game Programmer) เป็นอาชีพที่สร้างเนื้อเรื่อง หรือ กำหนดรูปแบบภายในตัวเกมให้เกิดการพัฒนาขึ้น

นักออกแบบเกม (Game Designer) เป็นอาชีพที่สร้างสรรค์ถึงความสวยงามของเกม ให้ผู้เล่นมีความต้องการเล่นเกมนั้นๆ

ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ (Art Director)

ผู้ควบคุมงานสร้างเกม (Game Producer)

แอนิเมเตอร์ภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ (2D/3D Animator)

นักพัฒนาอินเทอร์แอคทีฟมีเดีย (Interactive Media Developer)

ผู้จัดการเนื้อหาสื่อดิจิทัล (Digital Content Manager)

นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX Designer)

นักออกแบบอินเทอร์เฟซผู้ใช้ (UI Designer)

นักพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application Developer)

นักพัฒนาซอฟต์แวร์แบบจำลองและเกม (Game Simulation Developer)

ผู้ประกอบการด้านเกมและอินเทอร์แอคทีฟมีเดีย (Entreprenuer in Game and Interactive Media)

ซึ่งอาชีพต่างๆนี้ จะเป็นการต่อยอดที่เกี่ยวข้องการจัดทำหลักสูตรเหล่านี้ขึ้นมา และ พัฒนานักกีฬา E-sport

เกม E-sport รายการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัย 

ผ่านมาไม่นาน ได้มีการจัดเกมการแข่งขัน U League Thailand 2017 ซึ่งเป็นการจัดเกมการแข่งขันกีฬา E-sport เป็นครั้งที่ 2 ในระดับอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 16 สถาบัน กับเกมทั้งหมด 3 เกม คือ LOL HON และ ROV และ หาผู้ชนะเป็นเงินรางวัลกว่า 1,000,000 บาท

การเปลี่ยนมุมมองของเกม E-sport ให้กลายเป็นกีฬาที่แท้จริง

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้เกม E-sport กลายเป็นกีฬาได้ คือ การโฆษณาของผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรม และ การเรียนการสอนถึงวิธีการเล่น ในส่วนสุดท้ายที่จำเป็นในการทำให้ได้รับการยอมรับคือ ทำให้เป็นธุรกิจ และ เพิ่มมูลค่าในตลาดโลก เพราะภาพลักษณ์ของทางสังคมไทยยังมองว่าเด็กที่ติดเกมนั้นไม่ดี ไม่เรียนหนังสือ เพราะถ้าหากใส่เป็นหลักสูตรเข้ามา ปัญหานี้จะลดลง

เล่นเกมสามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่

นายองศา อรุณ หรือ ซอส เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ได้เข้ารับการศึกษาในหลักสูตร คณะเทคโนโลยีสารนิเทศและนวัตกรรม สาขาเกมและอินเทอร์แอคทีฟ มีเดีย เป็นหนึ่งในผู้ที่เป็นนักกีฬาเข้าแข่งขันรายการ Thailand Master Cup 2017 และ ชนะเลิศในรายการนั้น รับทุนการศึกษา 100,000 บาท และยังเป็นตัวแทนนักกีฬาในรายการ League of Legends International College Cup 2017 ที่จัดขึ้นในประเทศไต้หวัน ได้กล่าวว่า รายได้ที่มาจากการเล่นเกมนั้นไม่ได้มาจากการแข่งขันเพียงอย่างเดียว ยังอาจจะมาจากการเป็นคนแคชเกม หรือ มีผู้ที่เป็นสปอนเซอร์ให้สำหรับการเล่นเกม

สรุปได้ว่า E-sport เป็นอีกหนึ่งกีฬาที่สำคัญไม่ต่างจากกีฬาอื่นๆที่ได้รับการยอมรับบนเวทีโลก การเล่นเกมต้องมองให้ลึกซึ้ง หากได้รับการสนับสนุนที่ดี จะมีการพัฒนา และ ทำให้ไปถึงเป้าหมาย และกลายเป็นนักกีฬาที่ดี หากมีผู้ที่ส่งเสริมอย่างแท้จริง